clock OPEN: 10.00 AM – 8.00 PM

OUR SERVICESครอบฟัน

ไขทุกข้อข้องใจ การครอบฟัน คืออะไร เจ็บไหม ฟันแบบไหนที่ควรครอบ

การครอบฟัน เป็นการบูรณะ และปกป้องฟันที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิมอีกครั้ง แถมยังช่วยให้ฟันดูสวยงาม เรียงตัวเป็นระเบียบ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับรอยยิ้มเราได้อีกทางหนึ่ง

เพราะการดูแลสุขภาพฟันให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เราจึงควรศึกษาแนวทางการรักษาฟันรูปแบบต่าง ๆ ไว้เพื่อให้เข้าใจขั้นตอนการรักษาจากทันตแพทย์มากยิ่งขึ้น หนึ่งในวิธีการรักษาทางทันตกรรมที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือ การครอบฟัน วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจความหมายของการครอบฟัน รวมไปถึงวิธีครอบฟัน และการดูแลรักษาหลังครอบฟันกัน

การครอบฟัน คืออะไร ?

การครอบฟัน (Dental Crowns) เป็นการใช้วัสดุพิเศษเพื่อครอบลงไปบนตัวฟันที่มีปัญหาทั้งซี่ โดยส่วนใหญ่ฟันซี่นั้น ๆ มักเจอปัญหาฟันหน้าหัก ฟันแตกบิ่น ฟันร้าว จนไม่สามารถอุดได้ หรือผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว เพื่อรักษาเนื้อฟันที่ยังเหลืออยู่ไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้ และช่วยให้ฟันที่มีปัญหานั้นกลับมาใช้งานได้ดังเดิม นอกจากนี้การครอบฟันยังช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับรอยยิ้มได้ เพราะเราสามารถเลือกรูปร่าง สีของฟัน รวมไปถึงปรับการเรียงตัวของฟันให้สวยงามเข้ากับรูปปากของเราได้อีกด้วย

การครอบฟันเหมาะกับใคร ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ?

การครอบฟัน ตอบโจทย์ปัญหาฟันได้หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายหนักหรือเบา เพราะเป้าหมายหลักของการครอบฟัน คือ การรักษาฟันซี่นั้นไว้โดยไม่ต้องถอนทิ้งไป โดยผู้ที่เหมาะสำหรับการครอบฟัน ประกอบด้วย

  • ผู้ที่มีปัญหาฟันแตก ฟันบิ่น ฟันผุ และต้องการให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง โดยมีสภาพเหมือนฟันธรรมชาติมากที่สุด
  • ผู้ที่ใส่รากฟันเทียม มักต้องครอบด้านบนก่อน
  • ผู้ที่ฟันเปลี่ยนสีอย่างเห็นได้ชัด
  • ผู้ที่มีฟันผุลึก รูใหญ่ จนไม่สามารถอุดฟันได้
  • ผู้ที่ใส่สะพานฟัน เพราะการครอบฟันเป็นส่วนหนึ่งของการทำสะพานฟัน

ครอบฟันมีกี่แบบ มีวัสดุอะไรบ้าง

วัสดุที่ใช้ในการครอบฟัน มีทั้งหมด 5 แบบ แตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ครอบฟันแบบโลหะล้วน (Full Metal Crown: FMC)
    เป็นการครอบฟันจากวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทานสูง รองรับการบดเคี้ยวได้ดี เหมาะสำหรับการรักษาบริเวณฟันกรามที่ต้องใช้บดเคี้ยวอาหาร เพื่อให้การเคี้ยวมีประสิทธิภาพดังเดิม ไม่แตกหักง่าย และดูแลรักษาง่าย แต่วัสดุนี้มีข้อจำกัดเรื่องความสวยงาม เพราะตัวครอบฟันจะเป็นสีโลหะทั้งซี่ มองไปแล้วไม่กลืนไปกับฟันซี่อื่น ๆ
  • ครอบฟันแบบเซรามิกล้วน (All Porcelain Crowns)
    เป็นการครอบฟันที่ทั้งสวยงาม มีสีเสมือนฟันจริง และแข็งแรง เหมาะสำหรับคนแพ้โลหะ เป็นวัสดุครอบฟันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถใช้ครอบฟันได้ทุกซี่ โดยเฉพาะฟันหน้าที่ต้องการความสวยงามเพื่อเสริมภาพลักษณ์ แต่วัสดุเซรามิกไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบใช้ฟันกัดสิ่งของ หรือชอบกัดฟัน เพราะอย่างไรเซรามิกก็ไม่แข็งแรงเท่าโลหะ หากมีการกัดบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดรอยร้าว หรือแตกได้ การครอบฟันแบบเซรามิก ยังสามารถแบ่งย่อยออกมาได้ 3 ประเภท คือ
    • ครอบฟันเซอร์โคเนีย (Zirconia Crowns) ใช้วัสดุเซรามิกคุณภาพสูงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับฟันแท้ มีความโปร่งแสง แข็งแรง รับแรงบดเคี้ยวได้ดี ไม่บิ่น หรือแตกง่าย
    • ครอบฟันเซรามิกล้วน (Glass Ceramic) เป็นการครอบฟันเซรามิกแบบแก้ว มีหลายชนิด อาทิ Emax, Empress, LiSi และ Suprinity มีความสวยงาม และโปร่งแสงเหมือนฟันธรรมชาติ แข็งแรงปานกลาง เหมาะสำหรับครอบฟันหน้าและหลัง
    • ครอบฟันไฮบริดเซรามิก (Hybrid Ceramic) มีหลายชนิด อาทิ Enamic, Cerasment เป็นวัสดุสมัยใหม่ที่ผสมระหว่าง Ceramic และ Composite ที่ยืดหยุ่นสูง สวยงาม แข็งแรงปานกลาง เหมาะสำหรับผู้มีเนื้อฟันน้อย
    • ครอบฟันแบบโลหะเคลือบเซรามิก (Porcelain-Fused-to-Metal Crown: PFM)

เป็นครอบฟันที่ผสมเซรามิกกับโลหะไว้ด้วยกัน โดยโครงสร้างฐานด้านล่างจะเป็นโลหะ ส่วนด้านบนเป็นเซรามิก ทำให้ครอบฟันชนิดนี้มีทั้งความแข็งแรง และความสวยงาม อย่างไรก็ตาม ครอบฟันแบบนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะต้องกรอเนื้อฟันออกไปมาก และทำให้เห็นขอบเหงือกเป็นสีคล้ำ ดูไม่น่ามอง

  • ครอบฟันแบบเรซิน (All-Resin Crown) เป็นวัสดุคล้ายพลาสติก มีความแข็งแรงทนทานค่อนข้างน้อย แตกหักง่ายกว่าวัสดุอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่ทันตแพทย์มักใช้วัสดุชนิดนี้มาครอบฟันชั่วคราวระหว่างการรักษา หรือรอฟันครอบถาวรมากกว่า
  • ครอบฟันแบบสแตนเลส (Stainless Steel Crown: SSC) หรือครอบฟันแบบเหล็กไร้สนิม ส่วนใหญ่มักเป็นครอบฟันสำเร็จรูปสำหรับเด็ก ทันตแพทย์มักใช้วัสดุนี้ครอบฟันให้เด็กที่ยังมีฟันน้ำนมอยู่ หลังจากฟันแท้งอกขึ้นวัสดุนี้จะหลุดออกเอง

วิธีครอบฟัน มีขั้นตอนอย่างไร ?

วิธีครอบฟัน เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องผ่านการรักษาทางทันตกรรมหลายขั้นตอน เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด โดยเราสามารถแบ่งขั้นตอนออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

  • ซักประวัติการรักษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว รวมไปถึงยาและวิตามินที่กินอยู่ จากนั้นจะตรวจสอบปัญหาฟันที่ต้องแก้ไข เอ็กซเรย์เพื่อตรวจสภาพของรากฟัน แล้วจึงประเมินว่าสามารถครอบฟันต่อได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะเข้าสู่ขั้นตอนการครอบฟันต่อไป
  • ทันตแพทย์จะปรึกษากับคนไข้เพื่อเลือกรูปร่าง สี และขนาดของครอบฟันถาวร
  • ทันตแพทย์ฉีดยาชา และกรอฟัน จากนั้นจะพิมพ์ปากเพื่อสร้างครอบฟันชั่วคราวมาใส่ให้ก่อน แล้วจึงให้คนไข้กลับบ้านเพื่อรอให้ครอบฟันถาวรทำเสร็จเรียบร้อยจากแล็บทันตกรรม โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 5-7 วันจึงเสร็จ
  • คนไข้กลับมาพบทันตแพทย์อีกครั้ง ในครั้งนี้ทันตแพทย์จะถอดครอบฟันชั่วคราวออก และใส่ครอบฟันถาวรให้
  • ทันตแพทย์ตรวจสอบความพอดีของครอบฟัน ตกแต่งครอบฟันถาวร รวมไปถึงดูการสบฟันว่ามีปัญหาอะไรไหม
  • ติดตามอาการ และประเมินผลครอบฟันถาวร
  • ครอบฟันไปแล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
  • หากมีอาการปวดหลังยาชาหมดฤทธิ์ สามารถกินยาแก้ปวดได้
  • กินอาหารอ่อน 1-2 วันหลังการครอบฟัน
  • ไม่เคี้ยวน้ำแข็ง ของแข็ง หรือเหนียวจนเกินไป
  • ทำความสะอาดปากตามปกติ
  • ใช้ไหมขัดฟัน และแปรงซอกฟันทุกครั้งก่อนแปรงฟัน เพื่อขจัดเศษอาหารที่อุดตันตามซอกฟันออก
  • พบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินผล และติดตามอาการ
  • หากมีอาการปวด เสียวฟัน หรือเจ็บเหงือกทุกครั้งที่กินอาหาร ให้รีบมาพบทันตแพทย์โดยเร็ว

ครอบฟันกับวีเนียร์ ทำอันไหนดีกว่ากัน ?

การครอบฟัน กับ การทำวีเนียร์ มีเป้าหมายในการรักษาแตกต่างกัน โดยการครอบฟันเป็นการรักษาซี่ฟันที่เสียหายค่อนข้างมาก ทำโดยการกรอฟันทั้งซี่ให้มีขนาดเล็กลง แล้วจึงนำที่ครอบฟันมาครอบลงไปทั้งซี่แทน เพื่อคงฟันซี่นั้นให้ยังใช้งานต่อไปได้ดังเดิม ส่วนการทำวีเนียร์เป็นการนำวัสดุเซรามิกมาเคลือบปิดไว้ที่ผิวฟันด้านหน้า ไม่ใช่การครอบฟันลงไปทั้งซี่ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตกแต่งฟันที่มีปัญหาเล็กน้อย เช่น ฟันบิ่น สีฟันไม่เท่ากัน หรือฟันห่าง ให้สวยงามขึ้นเท่านั้น

ครอบฟันราคาเท่าไหร่

ราคาครอบฟัน แปรผันตามวัสดุที่ใช้ และซี่ฟันที่มีปัญหา โดยทั่วไปราคาจะเริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 บาท แต่ถ้าคนไข้อยากได้วัสดุที่คงทนกว่านี้ หรือทันตแพทย์พิจารณาว่าควรใช้วัสดุอื่นที่ดีกว่าวัสดุเริ่มต้น ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการครอบฟัน

  • ครอบฟันเบิกประกันสังคมได้หรือไม่

ตอบ  ไม่สามารถเบิกประกันสังคมได้ เพราะทันตกรรมที่สามารถเบิกประกันสังคมได้ คือ ทันตกรรมเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์ แต่การครอบฟันจัดอยู่ในกลุ่มทันตกรรมเพื่อความสวยงาม (Esthetics)

  • ครอบฟันมีอายุประมาณกี่ปี

ตอบ  ประมาณ 5-15 ปี ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก หากมีพฤติกรรมกินของแข็งบ่อย ชอบเคี้ยวน้ำแข็ง กัดฟัน หรือมักใช้ฟันฉีกสิ่งของต่าง ๆ ก็อาจทำให้อายุครอบฟันลดลงได้

  • ครอบฟันแล้วฟันแตกอีกได้หรือไม่

ตอบ  มีโอกาส หากเราใช้งานฟันที่ครอบไปอย่างหนัก หรือครอบฟันไปเป็นระยะเวลานาน ย่อมมีโอกาสที่ครอบฟันจะหลุด หรือแตกหักได้ ในกรณีที่ครอบฟันหลุดทันตแพทย์จะประเมินว่าครอบฟันใหม่ได้ทันทีหรือไม่ หรือต้องทำครอบฟันอันใหม่แทน ส่วนในกรณีที่ครอบฟันแตกเล็กน้อย ทันตแพทย์จะซ่อมแซมให้กลับมาใช้การได้อีกครั้ง แต่ถ้าแตกร้าวมาก จำเป็นต้องทำครอบฟันใหม่เท่านั้น

  • ครอบฟันวันเดียวได้ไหม 

ตอบ สามารถทำได้ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยออกแบบเพื่อให้ได้ชิ้นงานครอบฟันที่รวดเร็ว สวยงาม แม่นยำ และใช้งานได้ในระยะยาว

  • ดูแลครอบฟันอย่างไรให้ใช้ไปได้นาน ๆ

ตอบ หลีกเลี่ยงการใช้ฟันกัดของแข็ง เหนียว เพื่อไม่ให้ครอบฟันชำรุด ควรใช้ความระมัดระวังในการใช้ไหมขัดฟัน ไม่ให้ไปโดนขอบของครอบฟันบริเวณที่ติดกับเหงือก และควรไปพบทันตแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์ได้ติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ

  • ทำไมใส่ครอบฟันนาน ๆ แล้วมีสีดำที่เหงือก

ตอบ ครอบฟันที่ทำให้ขอบเหงือกดำ คือ ครอบฟันที่มีส่วนผสมของโลหะ เมื่อใช้งานนาน ๆ ไป บริเวณขอบเหงือกตำแหน่งที่ใส่ครอบฟันจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีดำ หรือสีคล้ำขึ้น แก้ไขง่าย ๆ ด้วยการเปลี่ยนครอบที่มีส่วนผสมของโลหะให้เป็น ครอบฟันเซรามิก ที่มีความโปร่งแสง ขาวใส

  • ครอบฟันกับวีเนียร์ต่างกันอย่างไร

ตอบ วีเนียร์ กับ ครอบฟันนั้น แตกต่างกันที่ วีเนียร์จะเป็นการเคลือบแค่ผิวฟัน และส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาเพื่อความสวยงามมากกว่า เหมาะกับฟันที่รักษาไม่เยอะ ส่วนการครอบฟันนั้น จะเป็นการรักษาฟันแบบครอบทั้งซี่ เหมาะกับฟันที่ผุ บิ่น แตกหักมาก มีปัญหามากๆ จนไม่สามารถบูรณะด้วยการอุดได้แล้ว