clock OPEN: 10.00 AM – 8.00 PM

OUR SERVICESอุดฟัน

Photo Credit: https://www.freepik.com/ by nensuria

ครบจบทุกเรื่อง “อุดฟัน” ต้องอุดแบบไหน ทำไมต้องอุด เรามีคำตอบ

การอุดฟัน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรใส่ใจ เพราะทันตกรรมนี้เป็นวิธีที่จะช่วยยืดอายุฟันให้อยู่กับเราต่อไปอีกนาน ๆ ทั้งยังช่วยให้เราห่างไกลจากโรคร้ายที่มาจากการผุกร่อนร่อนหลุดของฟันได้อีกด้วย

พอพูดถึงการอุดฟัน เชื่อว่าหลาย ๆ คนคุ้นเคยกับทันตกรรมนี้กันเป็นอย่างดี เพราะเป็นหนึ่งในทันตกรรมเพื่อการดูแลรักษาฟันทั่วไปที่เราต้องทำกันเป็นประจำเมื่อฟันมีปัญหาผุกร่อน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังมีคำถามในใจอยู่ดีว่า การอุดฟันจริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ อุดแล้วเจ็บทุกครั้งไหม ทำไมเราต้องอุดฟัน แล้วเราต้องอุดแบบไหนถึงจะดี เพื่อตอบสารพัดคำถามที่อยู่ในใจ วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจทุกเรื่องเกี่ยวกับการอุดฟันกัน

การอุดฟัน คืออะไร ?

การอุดฟัน (Dental Filling) เป็นหัตถการทางทันตกรรมทั่วไป เพื่อซ่อมแซมฟันที่ได้รับความเสียหายจากการผุ กร่อน สึกหรอ อุบัติเหตุ รวมไปถึงปัญหาฟันแตกจากสาเหตุต่าง ๆ โดยทันตแพทย์จะใช้วัสดุอุดฟันชนิดต่าง ๆ เติม หรืออุดไปยังฟันบริเวณที่เสียหาย เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันถูกทำลายเพิ่มขึ้น ให้ฟันของเรากลับมาสวยงามแข็งแรง และใช้งานได้อีกครั้ง แต่ฟันที่สามารถรักษาด้วยการอุดฟันได้ ต้องเป็นฟันที่ยังไม่ได้รับความเสียหายทะลุถึงโพรงประสาทฟัน และยังมีเนื้อฟันเหลือมากพอให้วัสดุอุดฟันยึดเกาะได้

การอุดฟันสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องอุดฟันผุ

เพราะการปล่อยให้ฟันเสียหายโดยไม่ดูแล อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ รวมไปถึงเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ตามซอกที่ผุ แตก หรือเป็นร่อง จนก่อให้เกิดปัญหาภายในช่องปากตามมามากมาย เช่น โรคเหงือกอักเสบ เป็นหนอง โพรงประสาทฟันอักเสบ รากฟันเสื่อม และอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งในช่องปากได้เลย การอุดฟันจึงเป็นเหมือนการแก้ปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม ช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรีย เชื้อโรค รวมไปถึงเศษอาหารต่าง ๆ เข้าไปติดตามซอกฟันจนเกิดความเสียหายร้ายแรงได้นั่นเอง

ปัญหาฟันแบบไหนที่ควรอุดฟัน

  • ผู้ที่มีปัญหาฟันผุ แตก หัก สึก บิ่น หรือมีอาการปวดฟัน และยังมีเนื้อฟันเพียงพอให้อุดฟันได้
  • ผู้มีปัญหาฟันห่าง ทันตแพทย์จะใช้วิธีอุดฟันเพื่อลดระยะห่างระหว่างฟัน
  • ผู้ที่เคยอุดฟันมาแล้ว แต่วัสดุอุดฟันหลุด วัสดุรั่ว หรือมีปัญหาฟันแตกเพิ่ม
  • ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนรูปทรง หรือสีของวัสดุอุดฟัน
  • ผู้ที่มีปัญหาคอฟันสึกจากการแปรงฟันผิดวิธี

วัสดุที่ใช้ในการอุดฟันมีอะไรบ้าง ?

วัสดุอุดฟัน เป็นวัสดุสังเคราะห์สำหรับใช้อุดฟัน แบ่งออกเป็น 3 แบบหลัก ๆ คือ วัสดุสีโลหะ และ วัสดุสีเหมือนฟัน ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสีย และความเหมาะสมแตกต่างกันดังต่อไปนี้

  • วัสดุอุดฟันสีโลหะ หรือ วัสดุอมัลกัม (Amalgam) เป็นการอุดฟันโดยการใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของปรอท เงิน ดีบุก และโลหะอื่น ๆ ที่มีความแข็งแรงคงทนมาใช้ในการอุดฟัน อมัลกัมเป็นวัสดุที่ใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว แข็งแรง และมีราคาไม่แพง หลังจากอุดแล้วจะเห็นตัววัสดุอุดฟันเป็นสีเงิน หรือเทาบริเวณที่อุดไป ส่วนใหญ่ทันตแพทย์มักพิจารณาใช้วัสดุนี้อุดฟันกราม ฟันที่ต้องบดเคี้ยว หรือฟันซี่ที่อยู่ด้านใน
  • วัสดุสีเหมือนฟัน (Composite Resins) เป็นการอุดฟันโดยใช้วัสดุที่มีสีเหมือนฟันธรรมชาติของเรา เป็นวัสดุที่นิยมมากที่สุด เหมาะสำหรับการอุดฟันด้านหน้าที่ต้องการความสวยงาม กลมกลืนไปกับฟันซี่อื่น ๆ การอุดด้วยวัสดุนี้ไม่จำเป็นต้องรอ 24 ชั่วโมง หลังจากอุดเสร็จสามารถใช้งานได้เลย แต่อายุการใช้งาน และความแข็งแรงจะไม่เท่ากับวัสดุสีโลหะ
  • วัสดุสีเหมือนฟันพอร์ซเลน (Ceramic Inlay-Onlay) หรือ วัสดุอุดฟันเซรามิก เป็นการอุดฟันโดยใช้วัสดุที่ทำขึ้นภายในห้องปฏิบัติการเพื่อนำมาเชื่อมติดกับฟันของเราโดยเฉพาะ มีสีที่เหมือนกับฟันธรรมชาติ และแข็งแรงคงทน มีอายุใช้งานประมาณ 15 ปี มักใช้ในการอุดฟันแบบ Inlay-Onlay ที่เป็นการอุดฟันขนาดใหญ่เกินกว่าการอุดฟันธรรมดา และมีราคาที่สูงกว่าวัสดุอุดฟันตัวอื่น ๆ

การเตรียมตัวก่อนการอุดฟัน

  • แจ้งโรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ และยาที่แพ้ ให้เจ้าหน้าที่ และทันตแพทย์ทราบก่อนเข้ารับการรักษาทุกครั้ง
  • แปรงฟัน บ้วนปาก และทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งก่อนเข้ารับการรักษา
  • ควรกินอาหารมาก่อนล่วงหน้า ในกรณีที่อุดฟันด้วยวัสดุแบบโลหะ ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมงก่อนจึงจะกินอาหารได้
  • หากมีฟันปลอมแบบถอดได้ หรือใส่รีเทนเนอร์อยู่ ต้องนำมาด้วยทุกครั้ง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายขณะเข้ารับการรักษา

ขั้นตอนการอุดฟัน

  • ทันตแพทย์วินิจฉัยปัญหา และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยทันตแพทย์จะยืนยันตำแหน่งฟันที่จะอุดอย่างชัดเจน
  • หากทันตแพทย์พบว่าอาการฟันผุอยู่ใกล้โพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะฉีดยาชาก่อนเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ และอาการเสียวฟัน
  • ในกรณีที่มีวัสดุอุดฟันเก่าอยู่ ทันตแพทย์จะรื้อวัสดุเก่าออกทั้งหมด แล้วจึงรักษาส่วนที่ผุ
  • ทันตแพทย์กรอฟันเพื่อกำจัดส่วนที่ผุออก และเตรียมฟันสำหรับการอุด
  • ทันตแพทย์อุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันที่เหมาะสม ขึ้นรูป และปรับแต่งให้พอดีเมื่อฟันสบกัน
  • ในกรณีที่ทันตแพทย์ใช้วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน จะมีการใส่วัสดุไปที่ฟันสลับกับการฉายแสง LED เพื่อให้วัสดุแข็งตัวเป็นชั้น ๆ จากนั้นจึงปรับแต่งให้เหมาะสมสวยงาม
  • เมื่อทันตแพทย์อุดฟันเสร็จแล้ว จะทำการขัดแต่งวัสดุอุดฟันให้เรียบ เงา และตรวจสอบการสบฟันเป็นครั้งสุดท้าย

หลังอุดฟันแล้ว ดูแลตัวเองอย่างไร

  • หากอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน สามารถเคี้ยวอาหารได้ทันที แต่ถ้าอุดฟันด้วยวัสดุโลหะ ต้องเว้นการเคี้ยวข้างที่อุดไปก่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารเหนียว หรือแข็งมาก ๆ
  • อาการปวดตึง และเสียวฟันหลังอุดฟันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และจะทุเลาลงจนหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์
  • หากรู้สึกว่าวัสดุอุดฟันค้ำฟัน สบกันไม่พอดี หรือเคี้ยวแล้วมีอาการเจ็บมากขึ้น ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์โดยทันที
  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม และใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย
  • กลับมาพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนเพื่อนตรวจสุขภาพฟัน

อุดฟัน ราคาเท่าไหร่ ?

ตามปกติ การประเมินราคาในการอุดฟันจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาฟัน ความซับซ้อนในการรักษา ผุซี่ไหน กี่ด้าน รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ และสถานพยาบาลที่เราเข้ารับการรักษา แต่โดยปกติแล้ว ราคาอุดฟันมักเริ่มต้นที่ประมาณ 600-1,500 บาท หากคุณต้องการอุดฟัน แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์ก่อนเพื่อให้ทันตแพทย์วินิจฉัย และวางแผนการรักษาเบื้องต้นจะดีที่สุด

คำถามเกี่ยวกับ การอุดฟัน ที่พบบ่อย

  • การอุดฟันเบิกประกันสังคมได้หรือไม่

ตอบ ได้ สิทธิประกันสังคมสามารถนำมาเป็นส่วนลดค่าอุดฟันได้ 900 บาทต่อปี

  • กลัวเจ็บ ไม่อุดฟันได้ไหม ทิ้งไว้จะเป็นอันตรายหรือไม่

ตอบ ไม่ได้ การเกิดฟันผุแล้วไม่รักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้ฟันเป็นรู หรือเป็นโพรงกว้าง และลึกขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมามากมาย อาทิ ปวดฟัน ฟันโยก เสียวฟัน เป็นหนองในฟัน เหงือกอักเสบ ฯลฯ ในกรณีที่ร้ายแรงอาจต้องรักษารากฟัน หรือถอนฟันทิ้ง แล้วใช้ฟันปลอมทดแทนเลยทีเดียว

  • อุดฟันหรือทำรากฟันเทียมดีกว่า

ตอบ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทันตแพทย์ หากความเสียหายของฟันยังสามารถอุดฟันได้ ทันตแพทย์จะพิจารณาให้อุดฟันก่อน แต่ถ้าความเสียหายนั้นรุนแรงจนกระทบรากฟัน ทันตแพทย์อาจวางแผนการรักษาโดยให้รักษารากฟัน หรือทำรากฟันเทียมเป็นลำดับถัดไป

  • อุดฟันใช้เวลานานเท่าไหร่

ตอบ โดยเฉลี่ยทันตแพทย์จะใช้เวลาอุดฟันซี่ละ 30-45 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งฟัน ปัญหาฟัน ความซับซ้อนในการรักษา รวมไปถึงการให้ความร่วมมือของคนไข้ด้วย

  • อุดฟันเจ็บไหม

ตอบ มีโอกาสเจ็บ หรือเสียวฟันในขั้นตอนของการกรอฟัน ถ้าฟันผุลึกใกล้กับโพรงประสาทฟันก็อาจมีอาการเสียวฟัน หรือเจ็บปวดได้ แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะทันตแพทย์จะพิจารณาใช้ยาชาในการลดอาการเสียวฟันอยู่แล้ว

  • อุดฟันกรามโดยใช้พอร์ซเลนอุดแทนมัลกัมได้ไหม

ตอบ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทันตแพทย์ หากฟันที่ได้รับความเสียหายเป็นการอุดฟันขนาดใหญ่ ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้อุดฟันโดยใช้พอร์ซเลนแทนการใช้วัสดุชนิดอื่น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณของคนไข้ด้วยเช่นกัน เพราะวัสดุพอร์ซเลนมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง