clock OPEN: 10.00 AM – 8.00 PM

OUR SERVICESตัดปุ่มกระดูก

Photo Credit: https://www.freepik.com/ by eaktopapps

ตอบคำถามครบทุกเรื่องเกี่ยวกับ “การตัดปุ่มกระดูกในช่องปาก”

ถึงแม้ชื่อจะฟังดูไม่น่าพิสมัย แต่ การตัดปุ่มกระดูก ก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอย่างที่คิด ใครที่ทันตแพทย์พิจารณาว่ามีปุ่มกระดูกอยู่ในช่องปาก และควรผ่าออก มาทำความเข้าใจความหมาย สาเหตุ และวิธีการปฏิบัติตัวไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้ได้เลย

เมื่อคุณลองใช้ลิ้นไล่ไปทั่วช่องปาก และสันเหงือก หากพบว่ามีอะไรนูนๆ เป็นก้อนแข็ง อย่าเพิ่งกังวลว่าจะเป็นเนื้อร้าย หรือก้อนมะเร็ง เพราะนั่นอาจเป็นปุ่มกระดูกที่งอกขึ้นมาก็เป็นได้ โดยปกติปุ่มกระดูกเกิดขึ้นได้กับทุกคน และสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปุ่มกระดูกนั้นเริ่มส่งผลกระทับต่อชีวิตประจำวัน ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดออกแทน ใครที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับปุ่มกระดูกในช่องปาก อยากรู้ว่าตัวเองมีปุ่มนี้ไหม แล้วควรผ่าออกหรือปล่อยให้หายเองดี วันนี้เรารวบรวมทุกข้อควรรู้มาแนะนำกัน

ปุ่มกระดูก คืออะไร เกิดตรงไหนได้บ้าง

ปุ่มกระดูก คือ ก้อนกระดูกหรือผิวกระดูกที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ ใต้เหงือกภายในช่องปาก มีรูปร่างไม่ชัดเจน อาจงอกเป็นก้อนเดี่ยว หรือรวมตัวกันเป็นหลายก้อนก็ได้ โดยก้อนนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ตำแหน่งของปุ่มกระดูกที่พบได้ในช่องปาก มักเป็นบริเวณกึ่งกลางเพดานปาก ด้านข้างของขากรรไกรล่าง และขากรรไกรบน หรือบริเวณสันเหงือกใกล้ลิ้น

สาเหตุของการเกิดปุ่มกระดูกอาจมาจากหลายปัจจัย อาทิ พันธุกรรม เชื้อชาติ หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ร่างกายสร้างกระดูกผิดที่ ซึ่งตัวอย่างพฤติกรรมที่อาจกระตุ้นการงอกของปุ่มกระดูก มีดังต่อไปนี้

  • การจัดฟัน อาจกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกระดูกใหม่บริเวณขากรรไกร เสี่ยงต่อการเกิดปุ่มกระดูกงอกผิดที่
  • แรงบดเคี้ยว คนที่บดเคี้ยวอาหารแรง ๆ ทำให้ฟันบดสึก และสั้นลง อาจเกิดเป็นสันปุ่มกระดูกภายหลังได้
  • นอนกัดฟัน คนที่มีนิสัยนอนกัดฟันหรือเคี้ยวฟัน พบว่าสันเหงือกมักจะมีปุ่มกระดูกงอกขึ้นมา

วิธีตรวจสอบ

วิธีตรวจสอบว่าคุณมีปุ่มกระดูกในช่องปากหรือไม่ สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพียงแค่ใช้ลิ้นลองไล่ไปทั่วบริเวณช่องปาก ตั้งแต่ขากรรไกรด้านบนลงมาด้านล่าง ตามแนวหลังฟัน และสันเหงือกด้านนอก หากพบว่ามีจุดใดนูนเป็นก้อนแข็งขึ้นมา นั่นก็คือปุ่มกระดูก หรืออาจส่องกระจก และใช้นิ้วลองจับดูว่ามีก้อนแข็งหรือไม่ก็ได้เช่นกัน

ใครที่ควรรักษาด้วยการตัดปุ่มกระดูก

  • ผู้ที่มีเศษอาหารติดบ่อยครั้ง ยากต่อการทำความสะอาด ส่งผลให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรีย และเกิดโรคในช่องปากตามมา
  • เนื้อเยื่อที่ปกคลุมบริเวณปุ่มกระดูกเกิดเป็นแผล หรือแผลเรื้อรังจากแรงกระแทก เช่น การแปรงฟัน หรือการเคี้ยวอาหาร
  • ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใส่เครื่องมือทางทันตกรรม เช่น จัดฟัน ใส่ฟันปลอม
  • ผู้ที่มีปุ่มกระดูกขนาดใหญ่จนขวางการเคี้ยวอาหาร สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงผู้ที่มีปุ่มกระดูกบริเวณสันเหงือกด้านหน้า ทำให้เสียความมั่นใจตอนยิ้ม

หากมีปุ่มกระดูกงอกในช่องปากแล้วไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีขนาดเล็ก ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาออกแต่อย่างใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทันตแพทย์

ขั้นตอนในการผ่าปุ่มกระดูก

  • ทันตแพทย์ตรวจในช่องปาก บางครั้งจำเป็นต้องเอกซ์เรย์ก่อน เพื่อประเมินตำแหน่งที่ต้องผ่าตัด
  • ฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการเจ็บในช่องปาก
  • เริ่มผ่าตัดเปิดเหงือกส่วนที่นูนเป็นปุ่ม ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือตัด หรือกรอเอากระดูกส่วนเกินออก
  • เมื่อนำปุ่มส่วนเกินออกแล้ว ทันตแพทย์จะทำความสะอาดแผลให้สะอาด ก่อนจะใช้ไหมเย็บปิดแผลให้สนิท หากแผลใหญ่เป็นบริเวณกว้าง จะมีการใส่เครื่องมือปิดแผลที่เรียกว่า Stent หรือ Obturator เพื่อช่วยห้ามเลือด เเละป้องกันการเคี้ยวอาหาร
  • เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทันตแพทย์จะนัดมาตัดไหมเย็บแผลภายใน 1 สัปดาห์

ค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดปุ่มกระดูกมีราคาตั้งแต่ 2,000–7,000 บาท แล้วแต่ตำแหน่งของปุ่มกระดูก และความยากง่ายในการรักษา ซึ่งปุ่มกระดูกที่เพดานปากมักจะมีราคาสูงกว่าปุ่มกระดูกใต้ลิ้น และขากรรไกรล่าง

การดูแลตัวเองหลังการตัดปุ่มกระดูก

  • หลังการผ่าตัด ให้กัดผ้าก๊อซบริเวณที่เป็นแผล 1-2 ชั่วโมง ไม่บ้วนเลือดหรือน้ำลาย เพราะจะทำให้เลือดหยุดไหลช้า
  • กินยาฆ่าเชื้อ และยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์สั่ง โดยต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อจนหมด เพื่อลดอาการดื้อยา
  • กินอาหารอ่อนในช่วง 1 สัปดาห์แรก เพื่อลดอาการปวด และระคายเคืองในช่องปาก
  • สามารถใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือเช็ดเบา ๆ บริเวณแผล เพื่อกำจัดคราบอาหารออกได้
  • หลีกเลี่ยงการดูดหรือเขี่ยแผล เพราะจะทำให้เลือดออกซ้ำ จนเกิดการติดเชื้อตามมาได้
  • ในกรณีที่มีการใส่เครื่องมือชนิดถอดได้ในช่องปาก แนะนำให้เอาออกมาทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ และใส่กลับไปในช่องปากหลังจากทำความสะอาดเสร็จ

คำถามที่พบบ่อย

  • ปุ่มกระดูกอันตรายไหม

ตอบ ส่วนมากปุ่มกระดูกไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ ไม่เป็นอันตราย ไม่ใช่เนื้องอกหรือมะเร็ง แต่อย่างไรก็ตาม ปุ่มกระดูกอาจขัดขวางการเคี้ยวอาหาร เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย หรือขวางการใส่เครื่องมือทันตกรรมบางชนิด ทันตแพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดเอาปุ่มกระดูกออก แต่ถ้ามีขนาดเล็กก็ไม่จำเป็นต้องผ่า

  • ผ่าตัดปุ่มกระดูกใช้เวลานานแค่ไหน เจ็บไหม

ตอบ การผ่าตัดปุ่มกระดูกถือเป็นการผ่าตัดเล็ก โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 30-50 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพ และตำแหน่งของปุ่มกระดูก ส่วนเรื่องความเจ็บก็อาจจะเจ็บใกล้เคียงกับการผ่าฟันคุด

  • ปุ่มกระดูกหายไปเองได้หรือไม่

ตอบ ปุ่มกระดูกเป็นการเติบโตของผิวกระดูกในช่องปาก ปุ่มกระดูกจะไม่หายไปเอง แต่จะหยุดโตเมื่อถึงจุดหนึ่ง หากต้องการเอาออกแนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์